วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ประวัติปลาหมอสีcrossbreed "ไตรทอง"


          ท่ามกลางกระแสครอสบรีดที่รุนแรง หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า เคยมีปลาหมอสีครอสบรีดอีกชนิดหนึ่งที่ได้เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของคนไทย ที่ทำให้ต่างประเทศได้รู้ว่าประเทศของเรามีนักเพาะพันธุ์ปลาที่มีฝึมือ สามารถเพาะพันธุ์ปลาหมอสีครอสบรีดให้มีความสวยงาม และเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวได้เหมือนกัน ปลาหมอสีครอสบรีดตัวนั้นมีชื่อว่า "ไตรทอง" 

            "ลุงหวัด" นักเพาะพันธุ์ปลาท่านหนึ่ง ซึ่งคนในวงการปลาสวยงามรู้จักกันดี และมีชื่อเสียงจนผู้คนยอมรับในด้านการให้กำเนิด เจ้าปลาหมอสี "ไตรทอง" ได้ทำการผสมสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2542 ในเวลาต่อมาคือช่วงต้นปี 2543 เริ่มมีคนรู้จักปลาชนิดใหม่นี้ และเริ่มให้ความสนใจไตรทองเป็นจำนวนมาก จนไตรทองเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจากในประเทศหรือต่างประเทศ ไตรทองหรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ไตรมาคูทอง (Golden Trimaculatus) มีต้นกำเนิดจากปลาหมอสีพันธุ์ ไตรมาคู

             โดยช่วงนั้นลุงหวัดยังเพาะปลาหมอสีชนิดนี้อยู่ และพบว่ามีปลาหมอ ไตรมาคูเลตัส 2 ตัว ที่เพาะได้มีการผ่าเหล่าผิดปกติไปจากปลาในครอกทั่วๆไป คือ มีลักษณะการลอกสี จากปลาพื้นสีดำกลายเป็นปลาพื้นสีเหลือง ช่วงคอแดง โดยบังเอิญปลาผ่าเหล่า 2 ตัวนั้น เป็นตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัวพอดิบพอดี ลุงหวัดจึงได้ลองทำการเพาะพันธุ์และพัฒนาปลาชนิดนี้ต่อไป จนความสวยงามเป็นที่ยอมรับ และเกิดความต้องการอย่างมากในท้องตลาด

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

มารู้จักซุปเปอร์เรดซินกันเถอะ (Super red syn)

     หลายท่านที่อยู่ในวงการปลาหมอสี  ก็คงจะรู้จักปลาหมอสีซุปเปอร์เรดซินกันแล้วนะครับ แต่อาจมีบางท่านที่เพิ่งเข้าวงการใหม่ๆอาจจะยังไม่รู้จักปลาหมอสีสายพันธุ์นี้กันเท่าใด ผมก็เลยเอารายละเอียดของเจ้าซุปเปอร์เรดซิน แบบสั้นๆมาลงไว้ ไปดูกันเลยครับ

     ซุปเปอร์เรดซิน เป็นปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างปลาหมอสี ในกลุ่มอเมริกาใต้ มีอยู่หลายสายพันธุ์ ที่เอามาครอสบรีดกัน เช่น ว่าเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ฮาร์ทเวจิ กับ ฟลายฟลาเวอร์ บ้าง ฮาร์เวจิกับคิงคองบ้าง และยังมีอีกหลายสายพันธุ์ ที่นักเพาะปลานำมาครอสบรีดกัน ซึ่งสายพันธุ์ที่นำมาครอสกันแล้วได้ซุปเปอร์เรดซินสายที่ดังๆ ซึ่งมีลักษณะที่สวย ทั้งแดงและโหนก จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าเอาสายพันธุ์ใดเข้ากับสายพันธุ์ใด


          แต่ไม่ว่าจะผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ใดกับสายพันธุ์ใดก็ตาม ซุปเปอร์เรดซินก็ยังเป็นปลาเปอร์เซ็นต์อยู่ดี ซึ่งหมายถึง จะมีทั้งเปอร์เซ็นต์ที่ปลาจะสวยและมีเปอร์เซ็นต์ที่ปลาจะออกมาไม่สวยด้วย

     ในปัจจุบันมีผู้เพาะพันธุ์ปลาหลายท่าน ที่สามารถพัฒนาสายพันธุ์ของซุปเปอร์เรดซิน ให้มีเปอร์เซ็นต์ความสวยเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ ซุปเปอร์เรดซินในปัจจุบัน มีราคาที่ลดลงมาบ้าง





วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

สูตรทำ "กัมฟา" ครับ


สูตรก็ไม่ยากครับ ง่ายนิดเดียว ขอให้หา พ่อปลา หรือ แม่ปลาได้ตามที่บอกก็พอ

สูตรที่1. ใช้พ่อเป็น FHที่มุกดี เช่นสาย เขียวหวาน กระโดงดำ บางระจันเป็นต้น (และถ้าในตัวพ่อปลามีสายเลือดหัวโหนกมาด้วยก็จะดีมากๆ) + แม่ที่เป็นสายเลือดซินได้ทุกชนิด เช่น ซินสไปลุ่ม ไบเฟส เฟเนสตราตรัส หรือ ง่ายสุดๆก็นกแก้วนี้แหละ (แต่นกแก้วมันจะให้ลูกออกมาลอกเยอะ)

สูตรที่2. สูตรนี้ลูกปลาที่ออกมาจะไม่ลอก และตายังมีเปอร์เซนต์สีขาวเกือบทั้งครอก สูตรนี้ใช้พ่อเป็นสายซิน เช่น ซินสไปลุ่ม ไบเฟส หรือเฟเนสตราตรัส + แม่ที่เป็น FH ที่มุกจัดๆ สูตรนี้จะกลับทางกับสูตรที่1. แต่จะให้ผลลับออกมาที่ไม่เหมือนกัน เช่นหน้าออกไปทางซินเยอะขึ้น ทรงสวยขึ้น เครื่องชิดขึ้น สีของตาออก เหลืองและขาวมากขึ้น แต่สูตรนี้ต้องอัดอาหารลูกปลาเยอะหน่อยนะครับ ไม่งั้นตัวมันจะยาวเร็ว ที่สำคัญจะมีลูกปลาบางตัวที่ออกมาเป็นนกแก้วกัมฟา หรือคิงคองมุกด้วยครับ

สูตรที่3. ที่ใครๆเรียกว่าลูก F2 สูตรนี้คือการเอาลูกในสูตรที่1.หรือสูตรที่2. ( สูตรที่1และ2 เราจะเรียกกันว่าลูก F1 ) ที่เป็นตัวเมียมา + กับตัวผู้ที่เป็น FH สายหัว เช่น ปัง กระโดงดำ บางระจัน เขียวหวาน แต่ในสูตรนี้ลูกที่ออกมาจะติดมาร์คที่ขมับบ้าง ตาเริ่มย้อนกลับไปเป็นสีแดงบ้าง และทรงจะย้อนกลับไปทาง FH เครื่องเริ่มห่างไม่ค่อยชิดเหมือน F1

สูตรที่4. จะคล้ายๆกับสูตรที่3 แตกต่างกันที่พ่อปลาคือการเอาลูกในสูตรที่1.หรือสูตรที่2. ( สูตรที่1และ2 เราจะเรียกกันว่าลูก F1 ) ที่เป็นตัวเมียมา + กับพ่อปลาที่เป็นสายซิน เช่น ซินสไปลุ่ม ไบเฟส หรือเฟเนสตราตรัส ผลคือลูกที่ออกมา ทรงจะยังคงเป็นซินแบบพ่อคือเครื่องชิด มาร์คที่หัวไม่มี เกือบทั้งครอกตาจะไม่มีสีแดงเลย มุกจะเริ่ม ออกโทนสีทอง แต่ถ้าอยากให้ลูกชุดนี้โหนกง่าย ต้องใช้พ่อเป็น ซินสไปลุ่มครับ ลูกปลาบางตัวที่ออกมาเป็นนกแก้วกัมฟา หรือคิงคองมุกด้วยครับ

สูตรที่5. อันนี้หายากหน่อย ใช้พ่อที่เป็นกัมฟามีเชื้อ+กับแม่กัมฟา จะได้ลูกที่ผิวสวยและมุกลายงามๆที่สุดเลยครับ (เท่าที่ลองสูตรนี้มาถ้าใช้แม่เป็น FH จะไม่สวยครับ มันจะย้อนกลับไปเป็นผิว FH และตาจะแดงมากขึ้น มาร์คที่ขมับจะขึ้นเต็ม)

เครดิต: tiraues

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

(ขอนอกเรื่องหน่อย) "วิธีเลี้ยงเต่าญี่ปุ่น"

ขอนอกเรื่องนิดนะครับ เผื่อบางคนจะสนใจ

วิธีเลี้ยงเต่าญี่ปุ่น แบบสั้นๆ เน้นๆ ได้ใจความ

1. เริ่มจากที่เลี้ยงจะต้องไม่ใช่ห้องแอร์ และโดนแสงแดดส่องทุกๆวัน แสงแดด สำคัญต่อสัตว์เลื้อยคลานมากๆครับ เพราะแสงแดดจะกระตุ้นให้มีการผลิต วิตามินD3 ซึ่งวิตามินD3นี้จะช่วยให้เต่าสามารถดูดซึมแคลเซี่ยมจากอาหารที่ กินเข้าไปได้ครับแค่นี้จะหมดปัญหาเต่ากระดองนิ่มตายได้แล้ว นอกจากนี้แสง แดดยังช่วยเรื่องการป้องกันการขาดวิตามินA ถ้าขาดเต่าจะตาปิดและบวมถ้าปล่อย ให้ถึงขึ้นนี้แล้วทำใจไว้ด้วยเลยนะครับ

2. เต่าญี่ปุ่นกินเนื้อเป็นหลัก(อย่าคิดว่าเต่ากินเต่าผักบุ้ง) ควรให้อาหาร ที่เป็นเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อกุ้ง เนื้อปลา ไส้เดือน หนอนนก หรือแม้แต่ อาหารเม็ดของปลาดุกที่โปรตีนสูงๆก็สามารถใช้ได้ดีครับ สำหรับอาหารสำเร็จ รูปของเต่าเม็ดเขียวๆยาวๆถึงราคาจะแพงแต่คุณภาพห่วยสิ้นดีครับ ไม่ต้องซื้อ มาให้เต่ากินหรอกครับ สารอาหารมันน้อยไป เราสามารถเสริมผักให้เต่ากินได้ บ้าง แต่มันกินไม่มากหรอกครับ แค่แทะๆเล่นเท่านั้น

3. ควรมีการเปลี่ยนน้ำบ่อยๆเพราะเต่าชอบถ่ายใส่น้ำและน้ำเสียเร็วมาก ถ้าปล่อยให้หมักหมมเต่าอาจเป็นรโรคผิวหนังจากแบคทีเรียได้ครับ

4. เวลาเต่าลอกคราบจะเห็นเป็นเมือกๆขาวๆตามคอและขา เต่ามันจะกินคราบของมันเองไม่ต้องกังวล

ง่ายๆใช่ไหมครับ สำหรับการดูแลเต่าญี่ปุ่น (เต่าซื้อง่าย แต่คนทำตายบ่อย) หากคุณทำได้ตามน้ำ เต่าก็จะมีสุขภาพดีไปอีกหลายสิบปีเลยครับ

น้ำใสๆ ไว้ใจไม่ได้

ต้อง ยอมรับอย่างหนึ่งนะครับว่า น้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นออกซิเจนที่ปลาจำเป็นในการหายใจก็อยู่ในน้ำ หรือสารอาหารบางชนิดก็ได้จากน้ำที่เขาอาศัยอยู่
นอกจากนี้เชื้อโรคและสารเคมีต่างๆย่อมส่งผลต่อสภาพของสัตว์น้ำหาก สิ่งเหล่านี้เจือปนอยู่ในน้ำ เช่น พยาธิภายนอก หรือสารเคมี เช่น คลอรีน เพราะฉนั้นการดูแลสภาพน้ำย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญ ใน การเปลี่ยนน้ำจากประสบการพบว่าหลายท่านจะใช้หลักเกณฑ์ต่างๆในการที่จะคิด เปลี่ยนน้ำ เช่น ดูสีของน้ำ ถ้าเริ่มขุนก็จะเปลี่ยนน้ำ หรือถ้าเริ่มมีสีเหลืองก็จะเปลี่ยนน้ำ บางท่านก็อาจจะใช้หลักเกณฑ์ว่าครบตามวันก็จะทำการเปลี่ยนน้ำ โดยหลักการเลี้ยงสัตว์น้ำ การที่ปลาหรือสัตว์น้ำได้เจอน้ำใหม่ย่อมเป็นสิ่งที่ดีครับ เนื่องจากน้ำใหม่ที่ไม่มีสิ่งเจือปน จะช่วยในการเผาผลาญสารอาหารต่างๆที่ปลาได้รับมาดียิ่งขึ้น แต่ในการเปลี่ยนน้ำทุกวันจะต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมของ ปลา กล่าวคือ การเปลี่ยนน้ำไม่ควรเปลี่ยนมากเกิน 50% เนื่อง จะทำให้ปลามีความเครียด เพราะเป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอย่างฉับพลัน ปลาบางตัวจะมีอาการซึมหรือสีซีด เช่น ในปลาหมอสีอาจจะพบว่าจะนอนพิงตู้ พอทิ้งไว้สักระยะก็จะกลับมาว่ายปกติเหมือนเดิม ส่วนในรายที่ดูจากสีน้ำแล้วค่อยทำการพิจารณาเปลี่ยน ค่อนข้างอันตรายนะครับ

เนื่องจากระบบการเลี้ยงโดยส่วนมากแล้ว เกือบทุกตู้จะมีการติดตั้งระบบกรอง ไม่ว่าจะเป็นกรองข้าง หรือกรองกล่อง บางที่ก็เป็นกรองล่าง คือจะมีตัวดูดน้ำเพื่อให้น้ำผ่านกรอง ก่อนที่จะหมุนเวียนมาใช้ต่อ หรืออาจจะเป็นกรองบนซึ่งโดยระบบแล้วจะค่อนข้างใกล้เคียงกัน กรองสำคัญไฉน? กรอง โดยทั่วไปแล้วจุดประสงค์คือการกรองระดับกายภาพ เช่น ฝุ่นต่างๆหรืออึปลาที่ลยมากับน้ำ แต่สภาพระดับค่าเคมีต่างๆกรองจะช่วยได้ไม่มาก เช่น ค่าไนไตรท์ ไนเตรท ค่าความกระด้าง อื่นๆอีกมากมาย หากเราใช้เกณฑ์ความใสในการเปลี่ยนนำจึงถือว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ จากที่พบมาง่าทำไมตู้น้ำใสๆแล้วยังพบว่าปลามีปรสิตภายนอกอยู่ ก็สาเหตุสำคัญก็คือการดูแลความสะอาดของน้ำในตู้ โดยปกติในการเปลี่ยนน้ำอย่างน้อยที่สุดควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอาทิตย์ละ หนึ่งครั้ง โดยอาจจะเปลี่ยนเพียง 30-40 % เพื่อให้ปลาได้เจอน้ำใหม่ ซึ่งการคำเช่นนี้ สามารถช่วยลดการเกิดปลาทองหงายท้องจากการติดเชื้อที่ถุงลมได้ส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้อย่างน้อย 1 เดือนควรมีการเปลี่ยนน้ำหรือถูตู้ และทำการเปลี่ยนดูแลระบบกรอง เช่น การนำไบโอบอลล์ ออกมาล้าง การล้างระบบกรองจะช่วยในการเกิดโรคพยาธิภายนอกได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากไข่ของพวกนี้มักจะเกาะในที่ต่างๆและส่วนที่มีการไหลผ่านมาตลอดก็ เป็นส่วนของระบบกรองนั่นเอง อาการภายนอกของปลาที่สงสัยว่าจะถูกโจมตีจากพวกพยาธิภายนอก คือ ปลาจะเริ่มว่ายไม่ปกติ คืออาจจะมีการว่ายบิดไปบิดว่าและจะว่ายเอาตัวถูตู้ จะพบได้ชัดในปลา AROWANA ซึ่งเป็นปลาที่เวลามีปรสิตมาเกาะจะว่ายถูค่อนข้างแรงจนในบางตัวจะพบเป็นแผล สีแดงตามตัวที่เกิดจากการนำตัวมาถู ในส่วนของปลาทองสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ จะพบจุดสีแดงกระจายทั่วทั้งตัว และหากปลาตัวไหนมีปรสิตเกาะมาก จะพบว่าปลาจะหายใจค่อนข้างแรงและลอยคอหายใจ เนื่องจากพวกปรสิตปลิงใส มักจะเกาะที่ตัวละบริเวณเหงือก ซึ่งเป็นส่วนที่ สัมผัสน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยปลาคาร์ฟจะพบว่าอาการจะลักษณะคล้ายปลาทอง และยังมีอาการพยายามโดดอยู่เรื่อย

จะพบว่าในหลายๆครั้งหลังฝนตกจะพบว่าปลาคาร์ฟจะโดดและลอยคอขึ้นหายใจบริเวณ ผิวน้ำ หาก เราสามารถควบคุมดูแลความสะอาดของน้ำได้ การเกิดโรคจะเป็นได้น้อย เปรียบเหมือนกับคนที่อยู่ในบริเวณมีพื้นที่สีเขียวมากๆย่อมมีร่างกายและ สุขภาพจิตที่ดีกว่าคนที่อยู่บริเวณที่มีแต่ควันพิษ นอก จากนี้การใส่ยาหรือสารเคมีต่างๆควรพึ่งระวังไว้เสมอว่าสารเคมีทุกชนิดเมื่อ ใส่ลงไปมันคือสิ่งแปลกปลอมสำหรับปลา หากจะใช้หรือจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของปลา อีกนิดหนึ่งบางท่านที่ใช้น้ำเลี้ยงปลา เช่น น้ำบาดาลหรือน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรมีการตรวจดูค่าต่างๆหรือแบคทีเรียและโปรโตซัว เนื่องจากพบว่าในพื้นที่บางพื้นที่มีการนำน้ำบาดาลมาใช้ในการเลี้ยงปลา แล้วพบว่าปลามีอาการป่วย เช่น หัวเป็นรู ซึ่งจะต้องตรวจดูค่าต่างๆในน้ำก่อนที่จะนำมาใช้ นอกจากนั่นการฆ่าเชื้อสำหรับน้ำในกลุ่มนี้ ค่อนข้างมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะอาจมีการปนเปื้อนสารเคมีหรือโปรโตซัว พยาธิที่มากับน้ำ สุดท้ายนี้ การดูแลสุขภาพน้ำในตู้ปลาหรือน้ำในบ่อเลี้ยงปลา ควรให้ความสำคัญระดับต้นๆ การตรวจค่าทางเคมีต่างๆก่นที่จะนำมาใช้ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่เลี้ยงปลาโดยที่ไม่มั่นใจในน้ำที่นำมา เลี้ยง อย่างเช่นน้ำบาดาลหรือน้ำปะปา

อาจจะเสียเวลาสักหน่อยแต่ผมเชื่อว่าทุกท่านคงไม่อยากที่จะเห็นปลาหงายกันหมด บ่อเพราะการที่จะกลัวเสียเวลาเล็กๆน้อยๆจริงไหมครับ และที่สำคัญที่พยายามเน้นเพราะเป็นห่วงเพื่อนๆทุกคน เรื่องการใช้ยา ควรศึกษาวิธีการใช้และปริมาณที่เหมาะสม และชนิดของปลา เพราะในปลาแต่ละตัวจะมีความไวต่อยาไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มปลากระเบนที่มักจะต้องใช้น้ำสะอาดมากๆ การใช้ยาจึงอาจจะต้องระวังมากๆเลยนะครับ ก่อนจากกันฉบับนี้ขอให้คนไทยทุกคนรักกันมากๆครับ และมีความสุขกับสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรา กันทุกคนครับ

เรื่องโดย : เม่นน้อยหัวเต้าหู้ ตีพิมพ์ในนิตยสาร : PET-MAG

โรคขึ้ขาว คืออะไร?

โรคขี้ขาวหรือลำไส้อักเสบในปลาหมอสี Crossbreed เป็นโรคที่พบได้บ่อยในการเลี้ยงปลาหมอสี ซึ่งสามารถพบได้ทุกอายุของปลาไม่ว่าจะเป็นปลาเล็ก ปลาฟอร์ม หรือ พ่อแม่พันธุ์ ซึ่งอาการที่จะพบว่าปลาจะมีการกินอาหารที่น้อยลง เบื่ออาหาร รวมถึงมีการถ่ายออกมาเป็นสีใสๆ หรือขาวขุ่น ซึ่งอาการดังกล่าวหากไม่ได้รับการรักษา สิ่งที่ตามมาหลังจากนี้ จะพบได้ 2 กรณี

1. พบว่าปลามีอาการท้องบวม ซึ่งเกิดจากลำไส้ที่เกิดการอักเสบจนมีอาการพองน้ำทำให้เมื่อดูจากภายนอก จะพบว่าปลาถึงแม้ไม่ได้กินอาหาร จะพบอาการท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย จนตายในที่สุด หรือกรณีที่ลำไส้มีการอักเสบ จนเกิดมีการสะสมของลมขึ้นภายในลำไส้ ส่งผลกระทบต่อการระบายลมของถุงลม ปลาจะค่อยๆมีอาการการทรงตัวที่ผิดออกไป จนเกิดอาการหงายท้องและตายในที่สุด

2. กรณีนี้ ลำไส้เกิดการอักเสบขึ้น จนเกิดการปวดเบ่งตามมา ผลสุดท้ายเมื่อปลาเบ่งมากๆจะพบกรณีไส้ไหลตามมา

สาเหตุของโรค

- เกิดจากการที่อาหารสดไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ปรสิตและโปรโตรซัว

- สภาพน้ำที่ไม่สะอาด ขาดการดูแล

การรักษา เนื่องจากที่กล่าวมาข้างต้นว่าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ปรสิต และโปรโตรซัว ดังนั่นการรักษาที่ดีที่สุด คือ ควรนำอุจาระของปลาป่วย มาส่องกล้องจุลทรรศ์ เพื่อหาสาเหตุ จึงสามารถให้การรักษาได้ดีที่สุด นอกจากนี้ การรักษาสภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอในช่วงการรักษาจะสามารถช่วยให้ปลา ขับของเสียในช่วงการรักษาได้ดีเช่นกัน

บทความโดย น.สพ. ชัยรัตน์ ซุ้มกอทอง

การเลี้ยงปลาหมอสีเท็กซัสแดง

ปลาหมอสีเท็กซัสแดงเป็นปลาหมอขนาดใหญ่ควรจะใช้ตู้เลี้ยงขนาด 36 นิ้ว สามารถเลี้ยงตั้งแต่ปลาเล็กจนโตโดยไม่ต้องเปลี่ยนตู้เลย ถ้าเป็นไปได้ควรจะเลี้ยงเพียง 1 ตู้ต่อ 1 ตัว เพื่อป้องกันปลากัดกัน ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ปลามีสีสวยงามแนะนำให้เลี้ยงด้วยอาหารเม็ด เพราะมีสารอาหารครบถ้วนและเสริมด้วยอาหารสดบ้าง เช่น กุ้งฝอย ที่จะให้บ้างประมาณ 10-20 ตัว อย่าให้กุ้งฝอยมากจนเกินไป ที่ผ่านมาเคยพบว่าส่วนเท็กซัสแดงราคาแพงมาก ๆ จะระมัดระวังการให้กุ้งฝอยเป็นอย่างมาก โดยนำกุ้งฝอยมาแช่ในด่างทับทิมเจือจางอ่อน ๆ เป็นเวลานานประมาณ 10-15 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรคในเบื้องต้นก่อนจะให้ปลากิน "หนอนนก" จะให้บ้างโดยป้อนให้ทีละตัวจนอิ่ม, หนอนนกจะช่วยเพิ่มไขมันให้กับตัวปลา สำหรับลูกปลาเหยื่อ เช่น ปลานิล ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงอาจจะเสี่ยงโรคติดต่อที่ติดมากับปลาเหยื่อ เป็นที่ทราบกันดีว่าปลาหมอเท็กซัสแดงมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสน จึงมีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้เริ่มเลี้ยงใหม่ นอกจากจะเริ่มจากซื้อลูกปลาที่มีราคาไม่แพงนักมาเลี้ยงก่อนและที่สำคัญควรจะเลือกซื้อปลาที่ลอกสีแล้ว เห็นสีมุกบนลำ ตัวว่าเป็นลูกปลาเท็กซัสแดงแน่นอน เพราะลูกปลาเท็กซัสแดงที่มีขนาดเล็กจะมีลำตัวสีดำเหมือนปลาหมอชนิดอื่น ๆ มีคนถูกหลอกมาแล้วเป็นจำนวนมาก

ครอสบรีด " มหัศจรรย์แห่งปลานำโชค "

ปัจจุบันกระแสความนิยมในการเลี้ยงปลามีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่หลงใหลในความพลิ้วไหวและความสงบของเจ้าปลาสวยงามประเภทต่างๆ ที่แหวกว่ายสายน้ำอย่างอิ่มสุข ทำให้ผู้เลี้ยงหรือผู้พบเห็นเพลินตาเพลินใจไปกับสีสัน อันงดงาม โดยการเลี้ยงปลานับว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มีส่วนทำให้จิตใจของผู้ เลี้ยงมีความสงบและเยือกเย็นมากขึ้น อาจจะเป็นได้ว่าผู้เลี้ยงได้รับการส่งผ่านพลังแห่งธรรมชาติของสายน้ำและการ เคลื่อนไหวที่สุขุมจากอิริยาบถของปลา นอกจากนี้ การเลี้ยงปลายังมีความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาภและความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของอีกด้วย

เมื่อพูดถึงการเลี้ยงปลามงคลหรือพันธุ์ปลาเพื่อช่วยเสริมดวงเสริมบารมี โดยหลักแล้วจะนิยมเลี้ยงกันอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ปลาเงินปลาทอง (จินหยู) ปลามังกร ปลาคาร์ฟ และปลาหมอสี โดยเฉพาะปัจจุบัน กระแสความนิยมในการเลี้ยงปลาหมอสีเพื่อ เป็นปลามงคลมีเพิ่มมากขึ้น เพราะปลากลุ่มนี้มีลักษณะที่ตรงตามความเชื่อถือในเทพเจ้าของชาวจีน คือ “ฮก ลก ซิ่ว” อันเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์ และความยั่งยืน โดยปลาหมอสีเป็นปลาที่มีเสน่ห์ในตัวเอง ด้วยสีสันที่สดใส รักสงบ หวงแหนอาณาเขต และมีความอดทนสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้คนหลงใหลและเลือกที่จะเลี้ยงปลาชนิดนี้

ปลาหมอสีมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่กำลังนิยมตลาดทั้งในและต่างประเทศคือ “ปลาหมอสีครอสบรีด” ซึ่งผู้เพาะพันธุ์ ปลาได้พัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลาย โดดเด่นในด้านสรีระ ลวดลาย และสีสันสวยงาม อีกทั้งเสน่ห์ของปลาหมอสีครอสบรีด คือ ลวดลายบนตัวปลาที่มีลักษณะเหมือนอักษรจีน “ฮวด” ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ปลาหมอสีครองใจผู้เลี้ยงปลาเรื่อยมา คุณวิฑูรย์ เทียนรุ่งศรี ประธานชมรมผู้นิยมปลาสวยงาม ประเทศไทย กล่าวถึงความนิยมในการเลี้ยงปลาหมอสีครอสบรีด ว่า “ปลาหมอสีครอสบรีด เป็นปลาที่มีจุดเด่นในตัว ด้วยลักษณะหัวโหนกกลมใหญ่ กล่าวว่าถ้ายิ่งใหญ่ก็จะยิ่งดี นั่นหมายถึงการมีอายุยืนยาว ทรัพย์สินมากมาย สีของตัวปลา ถ้ามีสีแดงคนจีนหมายถึงความเป็นสิริมงคล ส่วนเม็ดมุกบนตัว โดยเฉพาะบริเวณหัว หมายถึงความสว่างสดใส รุ่งเรือง ซึ่งถ้ามีลักษณะตรงตามนี้ นำไปประกวดก็จะได้คะแนนดี โดยปลาหมอสีครอสบรีดในปัจจุบัน มีให้เลือกหลายสายพันธุ์ ตามความชอบของแต่ละคน อาทิ พันธุ์ ฟลาวเวอร์ฮอน พันธุ์นี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะมีความโดดเด่นที่ตัวปลา บางตัวจะมีอักษรภาษาจีนปรากฏบนลำตัว แล้วพันธุ์นี้มีความหมายในภาษาจีนที่ดี เนื่องจากพ้องเสียงกับคำว่า “ดอกเหมย” ซึ่งหมายถึง ดอกไม้สิริมงคล และคำว่า “ฮอร์น” หมายถึง ความมีชื่อเสียงโด่งดัง

พันธุ์กัมฟา เป็นการพัฒนาสายพันธุ์ของฟลาวเวอร์ฮอน โดยมีลักษณะลำตัวป้อมกลม ตรงส่วนหัวที่มีโหนกใหญ่ ลักษณะคล้ายหยดน้ำ แก้มยุ้ย ส่วนพันธุ์ซินส์สไปรุ่ม พันธุ์นี้หน้าจะสั้น ลำตัวมีสีแดงมาก และสามารถลอกสีตัวได้ มีนิสัยขี้เล่น และพันธุ์ที่นิยมอีกพันธุ์หนึ่งหนีไม่พ้น พันธุ์เท็กซัส เพราะเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะสีที่หลากหลาย ทั้งสีน้ำตาลอ่อน สีเขียวฟ้า สีแดง และมีลายมุกเต็มตัวค่อนข้างหลากหลาย และยังมีหลากหลายสายพันธุ์แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล”

นอกจากนี้ ความมหัศจรรย์ของปลาหมอสีครอสบรีด ที่เกี่ยวกับสิ่งสิริมงคลชีวิตตามหลักโหราศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ บางตัวอาจมีหนึ่งหรือสอง แต่ถ้าตัวไหนมีครบจะถือได้ว่าเป็นสุดยอดแห่งปลาหมอสี โดยตามความเชื่อนั้น ปลาหมอสีที่มีสัญลักษณ์ของธาตุไฟ หมายถึงความฉลาด กระตือรืนร้น สัญลักษณ์ธาตุดิน ให้คุณค่าของความสุขุม การคิดไตร่ตรอง สัญลักษณ์ธาตุลม เกี่ยวกับปัญญาและการสร้างสรรจินตนาการ และสัญลักษณ์ธาตุน้ำ แสดงถึงการทำงานที่ว่องไว รวดเร็ว ส่วนหัวที่มีลักษณะโหนกของปลาหมอสีครอสบรีดตรงกับธาตุไฟ ซึ่งถ้าหัวโหนกยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งเสริมบารมีของผู้เลี้ยงมากยิ่งขึ้น สามารถเกื้อหนุนผู้ที่เลี้ยงได้ เช่น ผู้เลี้ยงที่เกิดวันอาทิตย์จะช่วยด้านทางปัญญา ผู้เลี้ยงที่เกิดวันจันทร์ช่วยป้องกันการเสื่อมเสีย ผู้เลี้ยงที่เกิดวันอังคารเสริมให้มีผู้หวังดี รักใคร่ ผู้เลี้ยงที่เกิดวันพุธหนุนให้มีความมานะอดทน ผู้เลี้ยงที่เกิดวันพฤหัสบดี ช่วยเสริมด้านความสำเร็จการงาน มีโชคลาภ ผู้เลี้ยงที่เกิดวันศุกร์ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง และผู้เลี้ยงที่เกิดวันเสาร์เสริมด้านรายได้และทรัพย์สินให้เพิ่มมากขึ้น

ด้านการเลือกฮวงจุ้ยของตู้ปลาก็มีส่วนสำคัญเป็นสิ่งช่วยเสริมดวงให้กับผู้เลี้ยงด้วย ซึ่งการจัดตู้ปลาให้ ตรงหลักฮวงจุ้ยจะช่วยเสริมทรัพย์สินเงินทองเข้าบ้านให้ผู้อยู่อาศัยเจริญ รุ่งเรือง โดยมีหลักการเลือกง่ายๆ เช่น เลือกลักษณะตู้ปลาที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแสดงถึงธาตุไม้ จะช่วยส่งเสริมให้เจ้าบ้านเจริญก้าวหน้า ควรวางตู้ปลาให้อยู่ในทิศธาตุน้ำของบ้าน ถ้าเป็นไปได้ควรอยู่ในทิศที่มีประตูใหญ่จะดีที่สุด และในตู้ปลาควรมีการไหลเวียนของกระแสน้ำ หมายถึงลักษณะการหมุนเวียนของเงินทองที่ไหลเข้ามาเรื่อยๆ นอกจากนี้จำนวนปลาก็มีส่วน โดยมากจะนิยมเลี้ยงปลาประมาณ 1 ตัว 4 ตัว หรือ 9 ตัว เพราะถือเป็นเลขมงคล

หากเลือกเลี้ยงปลาหมอสีครอสบรีด ควรจะเลี้ยงเพียงตู้ละ 1 ตัว เพราะธรรมชาติของปลาหมอสีจะหวงอาณาเขตและลักษณะของตัวอักษรภาษาจีนจะเห็น เด่นชัดมากยิ่งขึ้น

ประวัติปลาหมอสี Crossbreed

ประวัตินั้นสำคัญ เพราะเราจะได้รู้ว่าปลาสายไหนมาจากไหน ปลาสายพันธุ์แท้ โดยเฉพาะคนที่เริ่มเข้าวงการ จะได้รู้ไว้เป็นพื้นฐานต่อไป ช่วงปลายปี 2544 ปลาหมอสี Crossbreed มีกระแสนิยม ปลาหมอสี Crossbreed อย่างสูงในมาเลเซีย มีคนเล่นกันทั่วประเทศ หลังจากนั้น ฟาร์มปลาบ้านเราก็ได้นำปลาจากฟาร์มชื่อดังในมาเลเซียซึ่งเป็นพันธมิตรกันนำเข้ามาพัฒนาซึ่งเป็นปลาที่มีเชื้อที่แข็งแรง ไม่เหมือนกับปลาที่นำเข้ามาเอง ที่ส่วนใหญ่จะไม่มีเชื้อ ด้วยฝีมือของบรีดเดอร์บ้านเราจึงมีการส่งออกกลับไปขายที่มาเลเซียอีกด้วย

ประวัติปลาหมอสีในประเทศไทย

ประวัติปลาหมอสีโดยคร่าว ๆ ไม่ได้มีการยืนยันเป็นที่แน่นอนว่าผู้นำเข้านั้นเป็นใคร โดยเมื่อราว ๆ ปี พศ. 2505 มีปลาหมอตัวแรกที่นำเข้ามาชื่อ แจ๊คเดมเซย์ ซึ่งถือเป็นตัวแรกที่ได้มีผู้นำเข้ามาเลี้ยง ต่อมาก็คือ ออสการ์ เป็นปลาหมออีกชนิดหนึ่งเช่นกันและต่อมาได้ถูกไปแยกสายพันธุ์ออกไปเป็นออกไป เป็นออสการ์โดยเฉพาะที่เรา เห็นกันอยู่ ส่วนประวัติปลาหมอสีที่นำเข้ามานั้น อยู่ในช่วงประมาณ30ปีขึ้นไปโดยถิ่นกำเนิดของปลาหมอสี จะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ สองกลุ่มคือ - กลุ่มที่วางไข่กับพื้น หรือซิคคลาโซน่า (CICLASONA)มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาก็คือ แถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ บราซิลและลุ่มแม่น้ำอะเมซอนเป็นหลักใหญ่ ซึ่งได้แก่ ปลาเซวาลุ่มทอง ที่กำลังนิยมอยู่ตอนนี้ นอก จากนี้ยังมีพวกซิลสไปลุ่ม และปลาหมอมาคูลิคัวด้า อีกด้วย - กลุ่มที่อมไข่ไว้ในปาก มาจากทะเลสาปทางด้านอัฟริกาหรืออัฟริกาใต้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ปลาที่นิยมเลี้ยงก็จะมาจาก ทะเลสาปมาลาวี แถว ๆ แถบแทนซาเนีย และก็มีพวก แซ พวกซาอี เป็นพวกนิยมจับปลาหมอและก็พวกนี้อีกเช่น กันที่เอาปลาหมอออกขายสู่ตลาดโลก ส่วนในประเทศไทยนั้น เริ่มมีคนรู้จักและเป็นที่แพร่หลายเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเริ่มมีการ ที่นิยมเลี้ยงเพื่อความสวยงามมากขึ้นและเริ่มมีการประกวด แข่งขันกันเกิดขึ้นอีกด้วย จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งจัดได้ว่าปลาหมออยู่ในช่วงที่ค่อนข้างบูมมากและเริ่มเป็นที่รู้จักกันใน หมู่นักเลี้ยงปลาพอสมควร

ประวัติปลาหมอสี

แหล่งกำเนิด (Origin)ปลาหมอสีเป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ทะเลสาบ หนองบึ่ง คูคลองต่างๆ โดยมีแหล่งกำเนิดจาก 2 กลุ่มใหญ่ๆ ในโลก คือ กลุ่ม New world ปลาหมอสีที่พบในส่วนของโลกใหม่ ได้แก่ แถบอเมริกากลาง -ใต้ เช่น แท๊กซัสตอนใต้ ลงมาจนถึงอาเจนตินาของอเมริกาใต้ ,คอสตาริกา ,นิการากัว , บราซิล, ลุ่มแม่น้ำอเมซ่อน, เกาะมาดากาสการ์ , เกาะศรีลังการ, ชายฝั่งทะเลตอนใต้ของอินเดีย ฯลฯ กลุ่ม Old world ปลาหมอสีที่พบในส่วนของโลกเก่า ได้แก่ แถบแอฟริกาใต้, ในทะเลสาบมาลาวี(Lake Malawi ), ทะเลสาบแทนกานยิกา (Lake Tanganyika ), ทะเลสาบวิคตอเลีย(Lake Victoria), แถบแทนซาเนีย ฯลฯ ทะเลสาบมาลาวี ( Lake Malawi ) ทะเลสาบมาลาวี คือแหล่งน้ำและปลา ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติหลักของชาวมาลาวี มีปลามากมายหลากหลายพันธ์ ที่อาศัยอยู่ใน ทะเลสาบแห่งนี้ ปลาชนิดหลักๆที่มีอยู่ในตลาดปลา คือ Chambo Mlamba Usipa และ Kampango ปลาในทะเลสาบมาลาวีเป็น อาหารหลักประเภทโปรตีนของชาวมาลาวี ที่ใช้รับประทานมากกว่า เนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆถึง 2 เท่า ทะเลสาบมาลาวี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของทะเลสาบในโลก มีขนาดความกว้าง 560 กม. 80 กม. ความลึกกว่า 700 เมตร และเป็นแนวเขตแดนของประเทศมาลาวีกับโมแซมบิค ทะเลสาบแห่งนี้ยังคงความหลากหลายของสาย พันธุ์ปลาที่มากแห่งหนึ่ง ของโลกมากกว่า 500 ชนิด และปลาตระกูลปลาหมอเป็นพันธ์ปลาที่มีมากที่สุด หมู่บ้านของชาวมาลาวี ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาบ โดยมีอาชีพหลักคือการทำประมงจับปลา และอาหารที่ขึ้นชื่อ คือ Chambo และ Nsima ทะเลสาบ แทนกานยิกา ( LakeTanganyika ) ทะเลสาบ แทนกานยิกา เป็นทะเลสาบที่อยู่ส่วนกลางของทวีปแอฟริกา หมู่บ้าน Rift ในแอฟริกาตะวันออก เป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ มีความยาวกว่า 670 กม. ส่วนที่กว้างที่สุด 80 กม. ความลึกกว่า 1,470 ม. มีเขตแดนทางเหนือติด Burund ฝั่งตะวันออกติด Tanzama ทางใต้ติด Zambia และทางตะวันตกติด Zain ประเทศโดยรอบของทะเลสาบจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีกิจกรรมดำน้ำ นั่งเรือตกปลา ฯลฯ ปลาในทะเลสาบ แห่งนี้มีสีสันสวยงาม พันธุ์ปลากว่า 200 ชนิด ทะเลสาบวิคตอเรีย ( Lake Victoria หรือ Victoria Nyanza) ทะเลสาบวิคตอเรีย เกิดจากแม่น้ำไนล์ ตั้งอยู่ระหว่างประเทศ Tangayika ,ประเทศ Uganda และ ประเทศ Kenya ทะเลสาบ มีพื้นที่กว่า 69,480 ตร.กม เป็นทะเลสาบทีใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากLake Superior ในอเมริกาเหนือ จากเหนือจรดใต้ ทะเลสาบมีความยาวกว่า 337 กม. จากตะวันออกถึงตะวันตก กว้างกว่า 240 กม. และมีความยาวของชายฝั่งรวม 3,220 กม. ชื่อของทะเลสาบแห่งนี้ตั้งโดย นาย John H. Speke ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นคนยุโรปคนแรกที่ได้พบทะเลสาบนี้ และได้ตั้งชื่อให้เป็น เกียรติแก่ควีนวิคตอเรีย แห่ง Great Britain เครดิตhttp://www.vet.ku.ac.th/library-homepage/db_directory/fish/fish_mho.htm

CrossBreed Club ยินดีต้อนรับ

ยินดีต้อนรับสู่ CrossBreed Club คลับของคนรักปลาหมอสีครับ

     บล็อกนี้ผมสร้างขึ้นมาเพื่อแชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาหมอสีครับ รูปภาพบางรูปก็ขอยืมมาจากในอินเตอร์เน็ตหล่ะครับ ผมจะพยายามให้เครดิตภาพทุกภาพนะครับ รวมถึงบทความบางบทความที่ผมเห็นจากในเวปอื่นหรือบล็อกอื่นๆของเพื่อนๆที่น่าสนใจ ผมก็ขออนุญาตมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ใครที่มีความเห็นอะไรก็โพสต์กันได้เต็มที่เลยนะครับ บล็อกนี้เปิดกว้างสำหรับทุกท่านครับ



 Tanwa